ห้องเรียนปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกอง แม่โจ้
วันนี้มาทำความรู้จักกับการปลูกข้าวแบบเข้มข้น (Intensive) กันนะครับ ที่ทำให้เคยมีคนผลิตข้าวได้สูงถึง 3,584 กก.ต่อไร่ สูงกว่าที่คนไทยทำไว้เฉลี่ยประมาณ 448 กก.ต่อไร่ในปัจจุบัน วิธีปลูกข้าวนี้ถูกนำไปใช้ 40 กว่าประเทศทั่วโลกแล้ว เรียกว่าระบบ System of Rice Intensification (SRI) ซึ่งในเมืองไทยก็มีคุณสุภชัย ปิติวุฒิ เฟสบุ๊ค “ชาวนาวันหยุด” เดินสายทั่วประเทศเพื่อสอนทำอยู่ โดยเปลี่ยนเป็นชื่อเป็นแบบไทย ๆ ว่า "ระบบผลิตเปียกสลับแห้ง แกล้งข้าว” โดยเกษตรกรที่ปฏิบัติตามก็ได้ผลผลิตข้าวมากกว่า 1,000 กก.ต่อไร่กันมาก สามารถไปศึกษาดูงานได้ครับ
การปลูกข้าววิธีนี้ต้องการศรัทธาและยอมรับการเปลี่ยนแปลงจากชาวนามาเป็นสิ่งแรกเลย เพราะจะค้านกับวิธีปลูกข้าวแบบเดิม ๆ ที่บรรพบุรุษไทยทำกันมาเป็นร้อยปี ....... คล้าย ๆ กับที่ชาวสวนลำไยที่เชียงใหม่และลำพูนช็อก ทำใจไม่ได้ที่จะให้ตัดแต่งต้นลำไยให้ต้นเตี้ยเพื่อให้เก็บผลผลิตได้ง่าย ลดแรงงาน ทำทรงหงายเพื่อให้ใบได้รับแสงแดดเต็มที่ และเด็ดผลทิ้งครึ่งหนึ่งทั้งสวนเพื่อให้ผลที่เหลือมีขนาดใหญ่ ได้ราคาสูง อย่างที่ชาวสวนจันทบุรีทำกัน
วิธีนี้เริ่มโดยบาทหลวง Henri de Laulanie ที่ใช้เวลาตลอดชีวิตการทำงาน 34 ปีของท่าน ศึกษาค้นคว้าให้ได้วิธีปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตมาก ๆ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของชาวบ้านในเกาะมาดากัสการ์ในปี 1983 ในภายหลังมีการกระจายความรู้นี้โดยเกษตรกร เอ็นจีโอ และมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยคอร์แนลของอเมริกา ที่จับเรื่องนี้แล้วทำโครงการเผยแพร่ไปสู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
วิธี SRI มีหลักการกว้าง ๆ คือ
1. ใช้ต้นกล้าข้าวอายุน้อย 8 – 12 วัน ที่มีใบเลี้ยง 2 ใบ ลงปลูกแค่หนึ่งต้นต่อกอ
2. ย้ายกล้าลงปลูกให้เร็วที่สุด ลดการกระทบกระเทือนรากให้มากที่สุด
3. ให้มีระยะห่างระหว่างต้นข้าวอย่างน้อย 25X25 ซม. เพื่อให้ใบข้าวได้รับแสงแดดและอากาศให้มากที่สุด สามารถสังเคราะห์แสงได้ดี (สังเกตไหมครับ ว่าต้นข้าวอยู่ริมคันนามักมีขนาดต้นใหญ่กว่า เพราะได้รับแสงแดดและอากาศเต็มที่ ใบข้าวสังเคราะห์แสงสะสมอาหารได้เต็มที่ วิธีนี้จึงจัดให้ต้นข้าวทุกต้นเป็นข้าวริมคันนาครับ)
4. รักษาให้ดินนาแค่ชื้น แต่ไม่ท่วมขัง เพื่อให้มีอากาศในดินเพียงพอที่จะให้มีระบบนิเวศที่ดีในดิน จุลินทรีย์ดินที่เป็นประโยชน์จะสามารถย่อยสลายอินทรียวัตถุในดินแล้วปลดปล่อยแร่ธาตุอาหารให้รากต้นข้าวได้ดี ในขณะที่หากมีน้ำท่วมขัง จะเกิดสภาพไม่มีอากาศในดิน ส่งผลให้เกิดการย่อยสลายแบบไม่ใช้อากาศที่ก่อให้เกิดแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์และมีเทน ที่เป็นพิษ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว
5. ระยะห่างของต้นข้าวจะทำให้สามารถลงไปเดินพรวนดินจัดการหญ้าด้วยอุปกรณ์ได้ (Rotary Hoe) หญ้าจะกลับลงไปเป็นปุ๋ยเป็นการหมุนเวียนแร่ธาตุอาหารในนาโดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าหญ้าเลย การพรวนดินช่วยให้มีอากาศในดิน และนำอินทรียวัตถุกับปุ๋ยหมักที่หน้าดินกลับลงไปสู่รากต้นข้าว ดินที่มีอากาศจะป้องกันการเกิดโรคทางดินและศัตรูพืชได้ดี
6. แปลงนาต้องมีอินทรียวัตถุสูง ซึ่งได้จากการเติมปุ๋ยหมักหรือไถกลบปุ๋ยพืชสด วิธีนี้อาจใช้ปุ๋ยเคมีร่วมด้วยได้ แต่การที่ดินนามีอินทรียวัตถุสูง จะทำให้มีการดูดซับประจุปุ๋ยเคมีไว้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีมากเหมือนในดินนาที่คุณภาพดินต่ำ เท่ากับลดต้นทุนลงได้
การปลูกข้าวของคนไทยนั้น เรารู้อย่างเดียวว่าต้องมีน้ำท่วมขังตลอดเวลา แต่วิธีใหม่นี้ถือว่าข้าวเป็นพืชที่ทนน้ำได้ แต่ข้าวไม่ใช่พืชน้ำ การที่ทำน้ำท่วมขังก็เพื่อลดภาระการจัดการหญ้าวัชพืชเท่านั้น วิธีใหม่นี้ใช้แรงงานในการเดินลงไปพรวนดิน จึงใช้แรงงานค่อนข้างมากในการจัดการหญ้าในนา แต่เมื่อเทียบกับปริมาณข้าวที่จะได้รับเพิ่มอย่างน้อย 2 เท่าแล้ว ก็น่าที่จะคุ้มอยู่นะครับ .... แนวคิดนี้เป็นสิ่งแรกที่สุดที่ชาวนาไทยต้องปรับเปลี่ยนให้ได้ก่อน
วิธีนี้จะทำน้ำท่วมขัง 1 – 2 ซม. แล้วปล่อยน้ำออก ทิ้งให้ดินแห้งแตกลายงา แล้วค่อยนำน้ำเข้าไปใหม่ สภาพดินที่แตกลายงาทำให้เกิดมีอากาศลงไปในดิน รากต้นข้าวจะแข็งแรง หาอาหารได้ไกล ต้นข้าวจึงโตและสมบูรณ์ ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่แห้งแล้งหรือมีพายุฝนได้ดี แล้วก่อนจะเกี่ยวข้าว 2 – 3 อาทิตย์ก็ปล่อยให้ดินแห้ง ซึ่งให้ผลดีทางอ้อมคือข้าวเปลือกจะมีความชื้นต่ำ เมื่อสีเป็นข้าวขาวแล้วข้าวเสียหายลดลง 10 – 15 %
พบว่า วิธีนี้ช่วยลดเวลาอายุการปลูกข้าวได้ มีระบบรากที่ใหญ่กว่า ลดความต้องการน้ำได้ 25 – 50 % เหมาะกับพื้นที่ในอีสานบ้านเรา ลดการใช้เมล็ดพันธุ์ได้ 80- 90 % ลดต้นทุน 10 – 20 % และเพิ่มปริมาณข้าวได้ 25 – 100 %
ในการพรวนดินเพื่อจัดการหญ้า จะทำครั้งแรกในวันที่ 10 หลังการดำนา ทำซ้ำอีก 4 ครั้งทุก 7 – 10 วัน .... การจัดการหอยเชอรี่ในนา คุณชาวนาวันหยุดใช้การปล่อยเป็ดเพราะมีช่องว่างระหว่างต้นข้าว และได้ขี้เป็ดและไข่เป็ดเป็นของแถม ส่วนการเพิ่มอินทรีย์วัตถุนั้นคุณชาวนาวันหยุดใช้การเลี้ยงแหนแดงในนาครับ ซึ่งเป็นอาหารเป็ดได้ด้วย
รายละเอียดการนำวิธีใหม่นี้มาประยุกต์ใช้กับไทยเรา พื้นที่ใดเหมาะหรือไม่เหมาะ พื้นที่มีระบบชลประทานจะทำอย่างไร ข้าวนาปีหรือนาปลัง ข้าวจ้าวหรือข้าวเหนียว ก็คงต้องไปศึกษาเพิ่มเติมจากเฟสบุ๊ค “ชาวนาวันหยุด” กันนะครับ
การผลิตข้าวให้ได้ปริมาณมาก ๆ ของวิธี SRI นี้จะไม่ได้ผลเลย หากดินนาไม่ได้รับการเติมอินทรีย์วัตถุ ดังนั้น ถ้าจะทำปุ๋ยหมักใส่นาสักไร่ละ 1 ตัน ... 10 ไร่ก็ 10 ตัน .... มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ครับถ้าจะใช้วิธีทำปุ๋ยหมักแบบพลิกกลับกองแบบเดิม ๆ หรือไปซื้อปุ๋ยหมักของคนอื่น ..... แต่ถ้าลงมือทำแบบไม่พลิกกลับกอง วิธีวิศวกรรมแม่โจ้ 1 ของเพจห้องเรียนปุ๋ยหมักนี้ รับรองครับว่าสบายมาก เพราะไม่ต้องพลิก ใส่แต่มูลสัตว์ ดูแลน้ำดี ๆ สองเดือนได้ ต้นทุนตันละ 750 บาท แถมอาจมีปุ๋ยหมักเหลือขายได้ด้วยซ้ำ เค้าขายดันตันละ 5,000 - 7,000 บาทเชียวครับ .... ลงมือทำปุ๋ยหมักใส่นากันเยอะ ๆ นะครับ ฟาง ใบอ้อย ใบไม้ ผักตบ เศษข้าวโพด จะได้เป็นประโยชน์ ไม่ต้องเผา เอาทำปุ๋ยหมักใส่นา สร้างความร่ำรวย ๆ กันถ้วนหน้านะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น