ไว้บันทึกเรื่องราวรอบๆตัว

วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ที่ภาคใต้มีหลังคามุงจาก หรือฟาง หรือหญ้าคาไหมครับ


ห้องเรียนปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกอง แม่โจ้

คำถาม : ที่ภาคใต้มีหลังคามุงจาก หรือฟาง หรือหญ้าคาไหมครับ ... ในสภาพที่ฝนตกหนัก 8 เดือนต่อปีของภาคใต้ มีน้ำฝนรั่วซึมทะลุหลังคามุงจากเหล่านี้ลงไปในห้องข้างล่างบ้างไหมครับ
คำถาม : กองฟางแบบในรูปที่กองไว้ในทุ่งนา เวลาฝนตก น้ำฝนมันซึมเข้าไปในกองฟางไหมครับ แบบว่าซึมจากด้านบนสุดทะลุลงไปถึงข้างล่างที่พื้น
คำตอบคือ ไม่ครับ น้ำฝนไม่เคยซึมทะลุหลังคามุงจากหรือกองฟางลงไปข้างล่างได้เลย ความลาดเอียงของหลังคามุงจากหรือฟางจะทำให้น้ำส่วนเกินไหลลงไปตามความลาดเอียง แต่จะไม่ซึมทะลุเข้าไปด้านใน
ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะว่า วัสดุธรรมชาติเหล่านี้มีคุณสมบัติที่ชอบอุ้มน้ำไว้ที่ตัว แต่ไม่ยอมให้น้ำซึมผ่านลงไปด้านล่างในแนวดิ่ง หรือที่เรียกว่ามีคุณสมบัติของ Field Capacity ครับ ... คล้ายกับอินทรีย์วัตถุในดิน .... ดินที่มีอินทรีย์วัตถุมากจะมีการอุ้มน้ำไว้กับตัว ไม่ยอมปล่อยให้น้ำซึมหนีหายลงไปในน้ำใต้ดิน ดินที่มีอินทรีย์วัตถุมากจึงซับความชื้นได้ดี เป็นประโยชน์ต่อการละลายแร่ธาตุเพื่อให้รากพืชดูดซึมเข้าไปใช้เป็นประโยชน์ และลดการกัดเซาะหน้าดินจากลมหรือฝนได้ดี
ในกองปุ๋ยรูปสามเหลี่ยมแบบไม่พลิกกลับกองของห้องเรียนปุ๋ยหมักนี้ก็เช่นเดียวกันครับ จารย์ลุงกำหนดให้มีการดูแลความชื้นกองปุ๋ยอย่างพิถีพิถัน อย่างประณีต เพื่อให้ทุกส่วนของกองปุ๋ยเปื่อยกลายเป็นปุ๋ยหมักโดยไม่ต้องพลิกภายในเวลาอันสั้นสองเดือน .... วิธีการดูแลความชื้นก็คือ รดภายนอกวันละครั้ง (เพื่อให้จุลินทรีย์ที่ผิวของกองปุ๋ยสามารถมีชีวิตได้) และทุก 10 วัน ก็ให้เจาะรอบกองปุ๋ย ระยะห่าง 40 ซม. เพื่อกรอกน้ำลงไป กรอกน้ำเสร็จก็ปิดรูเพื่อไม่ให้สูญเสียความร้อนของกองปุ๋ย .... ปริมาณน้ำในการรดประจำวันและการเจาะเติมน้ำ ต้องไม่มากเกินไปจนมีน้ำเจิ่งนอง น้ำนี้เป็นน้ำที่ชะเอาไนโตรเจนในมูลสัตว์ออกมา หากซึมลงดินไปก็จะเป็นที่น่าเสียดาย ให้ตักกลับไปรดกองปุ๋ย หรือรวบรวมเอาไปรดต้นไม้นะครับ
การเจาะเติมน้ำกองปุ๋ยทุก 10 วันนี้ แม้ว่าเป็นช่วงฝนตกหนักก็ยังต้องทำครับ เพราะน้ำฝนไม่สามารถซึมเข้าไปในกองปุ๋ยได้ ไม่ว่าจะอยู่ภาคใต้หรือภาคไหน ๆ ก็ตาม .... ข้อนี้เป็นปัญหาใหญ่ของคนทำปุ๋ยหมักใหม่ ๆ เพราะไม่ค่อยเชื่อว่าน้ำฝนไม่ซึมเข้ากองปุ๋ย พอครบสองเดือนจะล้มกองปุ๋ยก็พบว่าวัสดุในกองปุ๋ยไม่ยอมเปื่อย เพียงเพราะขาดน้ำ .... ให้จำไว้ว่าไม่มีจุลินทรีย์หน้าไหนในโลกที่สามารถทำงานได้ในที่ที่ขาดความชื้นครับ ... อย่าให้เสียเวลาไปเปล่า ๆ สองเดือนนะครับ
กองปุ๋ยจากฟาง จากใบไม้ จากผักตบชวา จากเศษข้าวโพด ก็ไม่ต่างกันครับ ... น้ำฝนไม่ซึมเข้ากองปุ๋ย
เกษตรกรหลายท่านทนไม่ได้กับการทำงานอย่างประณีตแบบนี้ บ่นว่าเสียเวลา ยกโทรศัพท์สั่งซื้อเดี๋ยวก็มา .... เพราะคิดอย่างนี้ถึงได้ขาดทุนมาตลอดไงครับ .... ซื้อปุ๋ยหมักของเขากระสอบละ 350 บาท หรือตันละ 7,000 บาท แต่ถ้าลงมือทำเอง พิถีพิถันหน่อย ลงทุนแค่ 750 บาทเอง ต้นทุนถูกกว่ากันเยอะครับ โอกาสกำไรเห็น ๆ แถมทำปุ๋ยหมักขายก็ยังได้ ... เกษตรกรแบบนี้ผมไม่พูดด้วยครับ ป่วยการ เหนื่อยเปล่า จนกว่าท่านจะมีดวงตาเห็นธรรมเสียก่อน 5555

เราเข้าใจตรงกันแล้วนะครับ ... ดูแลความชื้นกองปุ๋ยอย่างประณีต มีการประกันคุณภาพโดยการสุ่มตรวจความชื้นข้างในกองปุ๋ยบ่อย ๆ อย่าให้มีจุดใดแห้ง .... เอาใจน้องจุลกันหน่อยครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น