ห้องเรียนปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกอง แม่โจ้
การทำปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมักของห้องเรียนนี้ ปุ๋ยหมักที่แห้งแล้วจะมีคุณภาพเป็นไปตามที่มาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของประเทศกำหนด เราลองมาดูเรื่องคุณภาพของปุ๋ยหมักกันนะครับ
มาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของประเทศกำหนดให้
- ค่าไนโตรเจน N ต้องไม่น้อยกว่า 1%
- ฟอสฟอรัส P2O5 ไม่น้อยกว่า 0.5%
- โพแทสเซียม K2O ไม่น้อยกว่า 0.5%
- ค่าอินทรีย์วัตถุไม่น้อยกว่า 20%
- ค่าสัดส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจนต้องไม่เกิน 20 ต่อ 1
- ค่าการนำไฟฟ้า ต้องไม่เกิน 10 เดซิซีเมนส์ต่อเมตร
- ค่าการย่อยสลายสมบูรณ์ (Seed Germination) ไม่น้อยกว่า 80%
- ค่าความชื้นไม่เกิน 30%
- และค่าอื่น ๆ อีก
จากการถ่ายทอดงานวิจัยการทำปุ๋ยหมักแบบกองแถวยาวไม่พลิกกลับกองตั้งแต่ปี 2552 พบว่า เกษตรกรจะได้ปุ๋ยหมักที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกครั้ง โดยมีค่าไนโตรเจนอยู่ในช่วง 1 - 3% ฟอสฟอรัส 1% โพแทสเซียม 1%
เป็นที่น่าสังเกตว่า ค่าอินทรีย์วัตถุจะได้จากเศษพืชไม่ใช่มูลสัตว์ ถ้าใช้พืชตระกูลถั่วเป็นวัตถุดิบจะได้ไนโตรเจนสูงขึ้นอีกสัก 1% ถ้าใช้เปลือกผลไม้หรือเมล็ดผลไม้จะได้โพแทสเซียมเพิ่มอีกสัก 2% และถ้าใช้ขี้วัวน้อยไปค่าสัดส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจนของปุ๋ยหมักจะสูงเกินไป ตกเกณฑ์
ค่าการนำไฟฟ้าเป็นตัวชี้ให้เห็นว่ากระบวนการย่อยสลายดำเนินไปได้อย่างสมบูรณ์ และไม่มีการแอบเติมปุ๋ยเคมีลงในปุ๋ยหมักนั้น ถ้านำวัตถุดิบที่ยังไม่เข้ากระบวนการไปวิเคราะห์หาค่าการนำไฟฟ้า ค่าจะสูงเกิน 10 หน่วยทันทีครับ
ค่าการย่อยสลายสมบูรณ์หาได้จากการเอาปุ๋ยหมักไปละลายน้ำ แล้วเอาไปเพาะเมล็ดผักเปรียบเทียบกับน้ำเปล่า ถ้าน้ำปุ๋ยหมักทำให้เมล็ดผักงอกเกิน 80% ของน้ำเปล่า ก็ผ่านเกณฑ์ ... ปุ๋ยหมักวิธีนี้ปกติได้ประมาณ 120% ครับ
ค่าสัดส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจนของปุ๋ยหมักกำหนดต้องไม่เกิน 20 ต่อ 1 เพราะถ้ามีค่าสูง ๆ แสดงว่ามีคาร์บอนมากในปุ๋ยหมักและมีไนโตรเจนต่ำ เมื่อนำปุ๋ยหมักไปใช้ในดิน จุลินทรีย์ดินจะมาเอาคาร์บอนนั้นไปใช้ในการเจริญเติบโต แต่เนื่องจากมีไนโตรเจนน้อยไปจุลินทรีย์จึงหันไปแย่งไนโตรเจนจากพืช พืชจึงเหลืองได้เพราะขาดไนโตรเจน ... คล้ายกับผลเสียจากการใส่แกลบหรือเศษพืชลงในแปลงเพาะปลูกมากเกินไป (แต่การไถกลบพืชตระกูลถั่วไม่มีปัญหาเพราะในรากพืชมีไนโตรเจนสูงอยู่แล้ว)
ค่าความชื้นกำหนดไว้เพื่อไม่ให้จุลินทรีย์ในปุ๋ยหมักออกมาอาละวาดไล่แทะรากพืชของชาวบ้าน เราจึงควรทำให้ปุ๋ยหมักแห้งดี ๆ ก่อนใช้นะครับ
กฎหมายระบุว่าถ้าใครทำปุ๋ยหมักได้ผ่านเกณฑ์เหล่านี้ ก็สามารถขายได้ในชุมชนโดยไม่ต้องไปจดทะเบียนเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์กับกระทรวงเกษตรฯ แต่ต้องไม่มีโฆษณาที่ถุงกระสอบนะครับ
ท่านใดต้องการวิเคราะห์ปุ๋ยหมักก็ให้นำปุ๋ยหมักที่แห้งสัก 0.5 กก.ส่งไปวิเคราะห์ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดได้ฟรี หรือส่งไปที่ห้องปฏิบัติการดินปุ๋ยของคณะเกษตร มหาวิทยาลัยต่าง ๆ แต่มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,200 บาทครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น