ห้องเรียนปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกอง แม่โจ้
การทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง วิธีวิศวกรรมแม่โจ้ 1 ที่กองเป็นแถวยาว ๆ เป็นรูปสามเหลี่ยม ใช้แต่เศษพืชกับมูลสัตว์ วางเป็นชั้นบาง ๆ สลับกันระหว่างเศษพืชกับมูลสัตว์ ดูแลน้ำสองเดือนก็ได้ปุ๋ยหมักที่มีคุณภาพผ่านมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของประเทศ ... เคยสงสัยไหมครับว่าขั้นตอนไหนที่ทำให้เศษพืชเปลี่ยนเป็นปุ๋ยหมักได้โดยไม่ต้องพลิกกลับ ... อะไรที่แตกต่างไปจากการทำปุ๋ยหมักวิธีอื่น ... อะไรคือเคล็ดลับอันนั้น
เคล็ดลับวิเศษนั้นมีแค่ 2 - 3 ข้อหลัก และอีก 2 - 3 ข้อย่อย ... ข้อหลัก ๆ คือการกองให้สูงเข้าไว้เพื่อเก็บกักความร้อนในกองปุ๋ยให้ได้ สูงสัก 1.5 เมตรก็จะพอดีกับการทำงานของคนไทย ความร้อนนี้เกิดจากการคายความร้อนออกมาของจุลินทรีย์จากกระบวนการย่อยสลายชีวภาพ .... พออากาศร้อนในกองปุ๋ยจะลอยตัวสูงขึ้นตามธรรมชาติก็จะมีอากาศเย็นกว่าจากภายนอกไหลซึมเข้าไปในกองปุ๋ยเพื่อเข้าไปแทนที่อากาศร้อนนั้น จุลินทรีย์ในกองปุ๋ยเลยได้รับออกซิเจนสำหรับกระบวนการย่อยสลายพอ ๆ กับวิธีการพลิกกลับกองเลย .... และเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีอากาศไหลเข้าไปทั่วทั้งกอง กองปุ๋ยจึงควรต้องเป็นรูปสามเหลี่ยมเพื่อลดจุดอับ เพราะการกองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจะมีบริเวณกลางกองปุ๋ยที่อากาศเข้าไม่ถึง การย่อยสลายจะช้ามาก
ข้อต่อไปคือ สัดส่วนเศษพืชกับมูลสัตว์ครับ ... ในการดำรงชีพของจุลินทรีย์เขาต้องการคาร์บอนกับไนโตรเจนสำหรับเป็นสารอาหาร ในสัดส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจน 20:1 - 25:1 โชคดีที่คาร์บอนมีในเศษพืชและไนโตรเจนมีในมูลสัตว์ ... หากใช้ใบไม้ 3 ส่วน มูลสัตว์ 1 ส่วน ก็จะได้สัดส่วนที่ต้องการ และหากเป็นเศษพืชที่ย่อยได้ง่ายกว่า อย่างเช่น ฟาง ผักตบชวา เศษข้าวโพด ก็ใช้ 4 ส่วน มูลสัตว์ 1 ส่วนครับ ... เป็นการตวงด้วยเข่ง ไม่ใช่การชั่งน้ำหนักนะครับ ... สาเหตุที่ใช้เข่งเพราะเกษตรกรไทยคงไม่มีเครื่องชั่งน้ำหนักที่บ้านกันทุกคนครับ
พอมีเศษพืชกับมูลสัตว์ในปริมาณและสัดส่วนที่ว่ามานี้ ในการขึ้นกองปุ๋ยให้เป็นรูปสามเหลี่ยมมีทางเลือกอยู่ 2 อย่าง คือ ผสมคลุกเคล้าพร้อมผสมน้ำก่อนขึ้นกองปุ๋ยเป็นรูปสามเหลี่ยม กับอีกวิธี วางเศษพืชสลับกับมูลสัตว์เป็นชั้นบาง ๆ สลับกันแล้วรดน้ำทุกชั้น ทั้งสองวิธีนี้ให้ผลเหมือนกัน คือ ให้จุลินทรีย์ได้พบกับเศษพืชอย่างทั่วถึง เพราะฉะนั้น ท่านใดทำกองปุ๋ยแล้วทำชั้นเศษพืชหนากว่า 10 ซม. ก็รับประกันได้ว่าโอกาสที่จุลินทรีย์จะไปพบเศษพืชได้ทั่ว ๆ นั้นก็คงลำบาก ครบสองเดือนพอล้มกองก็จะพบว่าเศษพืชไม่มีการเปื่อยครับ
ข้อต่อไปคือการดูแลน้ำกองปุ๋ย กองปุ๋ยแบบนี้ต้องการการดูแลน้ำอย่างพิถีพิถัน อย่างประณีต เพื่อให้เป็นปุ๋ยทั้งหมดกอง ... จุลินทรีย์จะหยุดกระบวนการถ้าขาดความชื้น .... จารย์ลุงจึงกำหนดให้รดน้ำวันละครั้ง ทุก 10 วันเจาะเติมน้ำ ระยะห่างรู 40 ซม.รอบกอง อยู่ในช่วงหน้าฝนก็ต้องเจาะเติมน้ำเพราะน้ำฝนไม่สามารถซึมลงไปข้างในได้
เคล็ดลับข้อย่อยคือ ห้ามขึ้นเหยียบกองปุ๋ย ห้ามเอาผ้าคลุมกองปุ๋ย
ความจริงการทำปุ๋ยหมักวิธีอื่นน่าจะนำเคล็ดลับเหล่านี้ไปปรับใช้นะครับ จะได้ช่วยลดการพลิกกลับ และได้ปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์ทั่วทั้งกอง โดยเฉพาะการดูแลความชื้นกองปุ๋ย เพราะเท่าที่สังเกตกองปุ๋ยของชาวบ้านมักปล่อยให้เทวดาเลี้ยง เป็นการดูแลกองปุ๋ยตามยถากรรม โดยไม่มีการกำชับเรื่องการดูแลน้ำกองปุ๋ย การเป็นปุ๋ยหมักจึงช้ามาก ทัศนคติเกี่ยวกับการทำปุ๋ยหมักขึ้นใช้เองของคนไทยจึงไม่ค่อยดีเท่าไรยังไงเล่าครับ
คราวนี้ถ้าเข้าใจหลักการอย่างลึกซึ้งแล้ว อยากได้ปุ๋ยหมักเยอะ ๆ ก็เพียง "บริหารจัดการ" ให้ได้มาซึ่งเศษพืชและมูลสัตว์เยอะ ๆ กองเป็นแถวยาว ๆ หลาย ๆ กอง ดูแลน้ำ สองเดือนก็เสร็จ ... ต้นทุนมีแค่มูลสัตว์ ... เค้าขายปุ๋ยหมักกันตันละ 5,000 - 7,000 บาทจ้า ... ทำขายโลดเลยครับ ... เป็นโรงปุ๋ยที่ประหลาด เพราะตากแดดตากฝนได้ .... ทำเยอะ ๆ ขี้เกียจรดน้ำประจำวันก็ติดสปริงเกลอร์ซะ แต่ครบ 10 วันก็ยังต้องเจาะเติมน้ำนะคร้าบบบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น